วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

อย่าพยายามให้คนอื่นเหมือนเรา

รายงานโดย :เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย: วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ผมพบไพโรจน์เพื่อนเก่า “เดี๋ยวนี้นายทำอะไรนะ เห็นออกทีวีหลายครั้ง”ผมเล่าเรื่องการโค้ชผู้บริหารเป็นรายบุคคลให้เขาฟัง “ส่วนใหญ่ผู้บริหารเขาให้นายโค้ชเรื่องอะไร” “เรื่องการทำให้ทีมงานเก่งขึ้น การจัดการความเครียด และการฟัง” “ดีเลย เรามีเรื่องเครียดจะปรึกษานายพอดี เราไปทำงานเก็บเงินที่อเมริกาหลายปี กลับมาก็เลยเกษียณได้เร็วหน่อย เราน่าจะมีความสุขดีนะ แต่ว่าเรามีลูกสาวอายุ 19 แล้ว เรียนเก่งมากเลย เอนทรานซ์ติด 4 แห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมในจีนด้วย แต่ว่าในที่สุดเธอตัดสินใจเรียนวิศวะในไทย ลูกสาวผมเป็นเด็กในฝันเกือบทุกด้าน ยกเว้นตอนเช้า ผมต้องไปส่งเธอที่มหาวิทยาลัย ปกติผมต้องใช้เวลาในการขับ 40 นาที แบบสบายๆ แต่ว่าเธอทำไม่ได้ ส่วนใหญ่เพราะตื่นสายหรือไม่ก็เอ้อระเหย โดยเฉลี่ยอาทิตย์ละ 3 วัน ที่ผมต้องเครียดเพราะเธอเหลือเวลาให้ผมขับไปเพียง 30-35 นาที ผมจะทำไงดี” “ไพโรจน์ อะไรทำให้คุณเครียด” “ลูกสาวผมไง” “แน่ใจหรือ” “เอ้อ...อาจจะเป็นตัวผมเองมั้ง” “ไพโรจน์ นายรู้สึกอย่างไรเวลาลูกสาวช้า” “โกรธหรือไม่ก็หงุดหงิด แต่เราเก็บไว้ในใจนะ แต่ว่าใจนี่สั่นเลย ความดันขึ้นปรี๊ด หน้าแดงจัดเลยละ” “นายว่านายมีทางเลือกที่จะไม่โกรธหรือหงุดหงิดไหมล่ะ” “ฉันมีทางเลือกหรือ” “เราจะเล่าเรื่องหนึ่งให้นายฟัง จากหนังสือ มนุษย์ ความหมาย และค่ายกักกัน ของ วิกเตอร์ อี แฟรงเกิ้ล แปลโดย อรทัย เทพวิจิตร ผู้เขียนเป็นนักจิตวิทยาชาวยิวที่ถูกนาซีจับไปอยู่ในค่ายกักกันเป็นเวลานาน เขาเขียนว่า ผู้เขียนเริ่มชิงชังสภาพทุกสิ่งทุกอย่าง ที่บีบบังคับให้ผู้เขียนต้องตกอยู่ในสภาพจำยอมทุกวัน ทุกชั่วโมง ผู้เขียนจะคิดถึงแต่เรื่องไร้สาระหยุมหยิมทำนองนี้เสมอ จนกระทั่งต้องฝืนเบนความคิดไปสนใจเรื่องอื่นบ้าง ทันใดนั้น ผู้เขียนก็เห็นตนเองยืนอยู่บนยกพื้นในห้องบรรยายที่มีแสงสว่างพอดี อากาศอบอุ่น และสภาพภายในห้องน่าพอใจ ตรงหน้าจะมีคนฟังคนหนึ่งนั่งบนเก้าอี้บุลายยกดอกชวนสบาย ท่าทางตั้งอกตั้งใจฟังขณะผู้เขียนกำลังบรรยายจิตวิทยาของชีวิตในค่ายกักกัน พอคิดดังนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่บีบคั้นกดดันในเวลานั้น ก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่เรามองโดยปราศจากความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปเกี่ยวข้อง ได้รับการพิจารณาและอรรถาธิบายเชิงวิชาการ และวิธีนี้ทำให้ผู้เขียนสามารถพาตนเองอยู่เหนือเหตุการณ์ เหนือความทรมานที่ได้รับในขณะนั้นได้เป็นผลสำเร็จ และผู้เขียนก็สังเกตเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นราวกับมันกลายเป็นเรื่องราวในอดีตไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งตัวผู้เขียนและความยากลำบากที่เผชิญอยู่ กลายเป็นประเด็นการศึกษาทางจิตวิทยาที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ศึกษาก็คือตัวผู้เขียนเอง ด้วยการรู้สภาวะจิตของตนเอง และจินตนาการอีกหน่อย ผู้เขียนก็สามารถเลือกมองสถานการณ์ให้เป็นบวกได้” “ไม่ง่ายเลยนะ” “ไพโรจน์ เวลานายเครียด ร่างกายจะผลิตสารเคมีสองตัวคือ คอร์ติโซน และอะดรีนาลิน ซึ่งทำหน้าที่ทำให้เรามีพลังในการสู้หรือหนี เป็นกลไกการเอาตัวรอดตั้งแต่เราเป็นมนุษย์หินในอดีต หากเราไม่ได้ใช้พละกำลังเมื่อเกิดสารเคมีนี้ขึ้น มันจะเริ่มส่งผลเสียทำร้ายร่างกายเราเอง จนเป็นสาเหตุของโรคและผลข้างเคียงที่มีโทษต่อตัวเราเอง หากเราเครียดบ่อยๆ และไม่ได้ออกกำลังกาย ในที่สุดก็ต้องไปหาหมอ” “ผมมีทางเลือกว่าจะทำร้ายตนเอง หรือจะมองบวกดีใช่ไหมครับ” “ใช่แล้ว นายคิดว่าจะมองสถานการณ์ของลูกสาวนายให้เป็นบวกได้อย่างไรบ้างล่ะ” “เราก็อาจจะคิดว่าที่จริงลูกเราก็ไปโรงเรียนทันเสมอ นอกจากนี้ เรายังโชคดีที่ลูกสาวเราก็กลับมานอนบ้านได้ทุกคืน ไม่หนีเที่ยวหรือเตร็ดเตร่เถลไถล นอกจากนี้ เรายังได้ฝึกขับแบบสร้างสรรค์โดยใช้เวลาให้น้อยลงด้วย แต่ว่าเราอยากให้ลูกเรารับผิดชอบมากกว่านี้ ตรงเวลา และมีวินัยสูง เพราะว่ามันทำให้ชีวิตเราประสบความสำเร็จมาได้” “คนเราไม่เหมือนกันนะไพโรจน์ เราเห็นคนดีและเก่งที่มาสายบ้าง รับผิดชอบน้อยบ้างในบางเรื่อง หรือไม่มีวินัยแข็งขันแบบนายก็มีถมไป เราแต่ละคนประสบความสำเร็จด้วยวิถีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าพยายามเปลี่ยนลูกนายให้เป็นแบบนายเลย”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม